วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การใช้อุปกรณ์ ภาชนะทำน้ำผลไม้

ภาชนะที่ใช้ต้องไม่ทำปฏิกิริยากับสารที่มีในผักผลไม้ ต้องสะอาด สำหรับผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะขาม สับปะรด มะเพือง กระเจียบ เป็นต้น ควรใช้ภาชนะเคลือบ หม้อเคลือบในการต้ม เคียว เนื่องจากกรดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเนื้อผลไม้ทำปฏิกิริยากับภาชนะอลูมิเนียม



ทองแดง หรือทองเหลือง ทำให้โลหะหนักจากภาชนะเหล่านั้นละลายปนออกมากับน้ำ ผักผลไม้นั้น มีดสำหรับหั่นหรือปอกก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรใช้มีดเหล็ก จะทำให้ผลไม้มีผิวสีดำเพราะไปทำปฏิกิริยากับสารแทนนินในผลไม้ ให้เลือกแบบมีดสเตนเลสสามารถป้องกันปฏิิริยาได้ การใช้ภาชนะไม่เหมาะสมยังทำให้รสชาติ สีสันของเครื่องดื่มเปลี่ยนไป เขียงที่ใช้หั่นหรือสับต้องสะอาดไม่มีซอก หรือรอยแตกที่มีเศษสิ่งสกปรกซุก ให้เกิดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และกลิ่นเหม็น



ผ้าขาวบางที่ใช้กรองไม่ควรมีเชื้อรา ควรซักล้างให้สะอาดหลังการใช้งานทันที

ภาชนะที่ใช้บรรจุหลังปรุงเสร็จ ถ้าทำเองในครอบครัวควรเป็นภาชนะแก้วซึ่งไม่มีโทษ ทนความร้อนจากเครื่องดื่มหลังการต้ม และเก็บไว้ได้นานเพราะมีการแลกเปลี่ยนก๊าชกับอากาศภายนอกน้อย ทั้งนี้ขวดแก้วนั้นต้องต้มหรือนึ่งฆ่าเชื้อก่อน ไม่น้อยกว่า 30 นาที แล้วปิดฝาเกลียวให้แน่นสนิท ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงเก็บเข้าตู้เย็น ถ้าจะเก็บในขวดพลาสติกจะต้องรอให้น้ำเย็นลงเสียก่อน จากงานวิจัยบอกว่ามักมีสารอันตรายในพลาสติก ละลายออกมาในปริมาณหนึ่งโดยที่ขวดยังทรงรูปร่างเดิมปกติ สารนั้นเมื่อได้รับมาก ๆ จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็ง จึงควรหลีกเลี่ยงที่จะใช้ภาชนะพลาสติก



เครื่องปั่นผลไม้มีหลายแบบ มีทั้งแบบไม่แยกกาก ความเร็วคงที่ หรือแบบปรับความเร็วได้ มีเครื่องที่สามารถคั้นแยกกากออกไปได้ในตัวแน่นอนว่าราคาแพงขึ้นตามคุณสมบัติ การใช้เครื่องปั่นเหล่านี้มักจะมีคู่มือการใช้ติดมากับเครื่อง ระวังเรื่องระยะเวลาการใช้งาน ไม่ควรปั่นนานเกินไป จะทำให้มอเตอร์ไหม้ได้ ปกติแล้วควรปั่นราว 30 วินาทีแล้วหยุดพักครู่หนึ่งจึงปั่นอีกครั้งทำซ้ำ ๆ จนกว่าจะละเอียดดี ระวังให้ใบมีดหมุนได้ปกติ อย่าให้ติดขัดซึ่งอาจจะเป็นเพราะผักนั้นชิ้นใหญ่และแข็งเกินไป หรือน้ำน้อยเกินไปทำให้ปั่นยาก และอีกข้อหนึ่งต้องระวังเรื่องไฟรั่ว ไฟดูด ดูแลอย่าให้เครื่องชำรุด